บริหารความคาดหวังของลูกค้าเมื่อใช้บริการได้อย่างไร
(How to Manage Customer Expectation)
ทุกๆ การติดต่อของลูกค้า จะมาพร้อมกับวัตถุประสงค์และความคาดหวังต่างๆ ซึ่งการจะสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าจำเป็นต้องให้บริการให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ พบว่าในบางครั้งผู้ให้บริการก็ไม่สามารถดำเนินการตามที่ลูกค้าร้องขอได้ทั้งหมด การบริหารความคาดหวังของลูกค้าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบริหารความคาดหวังของลูกค้าเมื่อใช้บริการ
- ทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า
การเป็นผู้ฟังที่ดี จะทำให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการติดต่อ ลูกค้าต้องการข้อมูลด้านใด หรือ ความช่วยเหลือเกี่ยวกับอะไร นอกจากนั้นการซักถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องจะทำให้ทราบความต้องการของลูกค้า และสามารถวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้อง
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
การใช้คำพูดที่แสดงความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า เหตุผลที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ นอกจากนั้น การกล่าวชื่อลูกค้าระหว่างการสนทนา จะเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างการให้บริการ
- ก่อนขอข้อมูลส่วนตัว หรือดำเนินการต่างๆ ควรแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงเหตุผลที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า
- สรุปขั้นตอนการดำเนินการหรือสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับ
หากการบริการไม่สามารถแก้ไขปัญหาในการติดต่อครั้งแรก เพื่อสร้างความคาดหวังที่ถูกต้อง ก่อนจบบทสนทนา ควรสรุปข้อมูลที่ลูกค้าควรทราบ เช่น ผู้รับผิดชอบแก้ไขปัญหา ขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา วันและเวลาที่นัดหมายจะติดต่อกลับ เป็นต้น
- ติดต่อลูกค้ากลับตามที่ได้สัญญากับลูกค้า
การรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้าจะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่ ถึงแม้ว่าการแก้ไขปัญหายังไม่แล้วเสร็จ หรือ ไม่สามารถดำเนินการตามที่ได้แจ้งไว้ เจ้าหน้าที่ควรจะโทรไปแจ้งความคืบหน้าหรือหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาแก่ลูกค้า
- ขออภัยหากมีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาของลูกค้า และแจ้งแนวทางการดำเนินการให้ลูกค้าทราบ
- หากความต้องการของลูกค้า เกินกว่าขอบเขตของการให้บริการ
ให้ข้อมูลที่เป็นความจริง อธิบายเหตุผลที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามความต้องการของลูกค้า เสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหา หรือ ขอปรึกษาหัวหน้าว่าจะยืดหยุ่นในการให้บริการได้หรือไม่ ทั้งนี้ ระวังการปฏิเสธหรือตอบคำถามที่ลูกค้าอาจจะคิดว่าเจ้าหน้าที่ไม่เต็มใจให้บริการ เช่น อ้างว่าเป็นนโยบายของบริษัทโดยไม่มีคำอธิบายถึงเหตุผล แจ้งลูกค้าว่าไม่ทราบ หรือ บอกลูกค้าว่าทำอะไรไม่ได้ เป็นต้น
การบริหารความคาดหวังของลูกค้ามีความสำคัญต่อความสำเร็จของการบริการ ขอฝากคำพูดที่ทุกท่านเคยได้ยินเกี่ยวกับการบริการลูกค้า “Under Promise and Over Deliver” หากเราสามารถให้บริการได้มากกว่าที่ได้สัญญากับลูกค้า จะเป็นการบริการเกินความคาดหวังและสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าได้
บทความโดย
คุณกฤตาภร ณ นคร
18 พฤศจิกายน 2565