คุณสิชาภัทร นพโสภณชนะ
Assistant Director - Customer Loyalty
บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด
คุณสิชาภัทร นพโสภณชนะ ปัจจุบันทำงานตำแหน่ง Assistant Director - Customer Loyalty, บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการเงิน เธอทำงานในสายงานนี้มาเป็นเวลากว่า 19 ปี โดยเริ่มทำงานในตำแหน่ง Customer Care ของบมจ. International Engineering มีหน้าที่ดูแลลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ Shop ของบริษัท จากนั้นเริ่มเข้าสู่งานบริการด้าน Call Center เมื่อปี 2540 โดยได้ร่วมงานกับบริษัทชั้นนำของประเทศหลายบริษัท อาทิ บริษัท จีอี แคปปิตอล จำกัด บริษัท สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท แคปปิตอลโอเค จำกัด และ บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งมีความรับผิดชอบในการบริหารทีมงาน Contact Center กว่า 200 คน คุณสิชาภัทร เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น และทุ่มเทในการทำงาน เธอมีความสุขที่ได้ทำงานบริการ และทำให้เธอมีความก้าวหน้าในสายงานมาโดยตลอด
Call Center Master: อะไรคือเคล็ดลับในความสำเร็จในสายอาชีพการบริการลูกค้าของคุณคะ
คุณสิชาภัทร: สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จของดิฉัน คือ การเรียนรู้ในงานที่รับผิดชอบ และการยอมรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขององค์กร เช่น ทิศทางของธุรกิจ (Business direction) ซึ่งมักจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องนโยบาย (Policy) และ กระบวนการทำงาน(Process) ต่างๆ ที่ต้องปรับปรุง หรือ การพัฒนาการทำงานให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ดิฉันมีความคิดเห็นว่าความสำเร็จของงาน มักจะเริ่มต้นที่แนวความคิด และการยอมรับ หากเราคิดไปในทางบวกนั่นหมายถึงเราได้พัฒนาตนเองให้มีองค์ความรู้เพิ่มขึ้น และเติบโตไปอีกหนึ่งขั้นเสมอค่ะ
Call Center Master: อะไรคือสิ่งที่คุณชอบในงานบริการลูกค้าคะ
คุณสิชาภัทร: สิ่งที่ดิฉันชอบในงานบริการ คือ การได้ทดสอบ และพิสูจน์ความสามารถของตนเองในการแก้ปัญหาภายใต้ข้อจำกัด ที่เกิดขึ้นในสถานต่างๆ ได้ โดยเฉพาะการได้ผลลัพธ์ในแบบ Win-Win ซึ่งผลลัพธ์ที่พูดถึงเป็นทั้ง 3 ด้าน คือ ลูกค้า องค์กร และตัวผู้ให้บริการค่ะ
Call Center Master: คุณมีวิธีหรือเทคนิคในการบริหารทีมงาน Call Center ให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดได้อย่างไรคะ
คุณสิชาภัทร: โดยทั่วไปในการทำงาน ดิฉันจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ใว้ชัดเจนเสมอ และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การสื่อสารกับทีมงานให้เข้าใจ หากเราต้องการให้งานสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น เทคนิคง่ายๆ แต่ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการเริ่มต้น คือ การสื่อสารกับทีมงานให้เข้าใจ และการรับฟังประเด็นของทีมงานเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ข้อสงสัย ในแต่ละหัวข้อที่เป็นความกังวลของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทีมงานมักจะซักถามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีอยู่เดิมค่ะ หากผู้ปฏิบัติงานเกิดความเข้าใจแล้ว ขั้นต่อไปไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานในการทำงาน ( KPI) หรือการสร้างกระบวนการทำงาน ( Workflow Process) ก็จะเป็นเรื่องง่ายตามไปด้วย โดยส่วนใหญ่ดิฉันมักให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการปรับให้เหมาะสม ก็จะทำให้ทีมงานยอมรับมาตรฐานในการทำงาน ( KPI) ที่ได้กำหนดขึ้น และยินดีปฏิบัติตามนั้นอย่างเต็มที่
Call Center Master: คุณคิดว่าบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการแบบ in-house และ outsource มีความแตกต่างกันอย่างไรคะ และมีความท้าทายอย่างไรบ้างคะ
คุณสิชาภัทร: บทบาทการให้บริการทั้งแบบ in-house และ outsource คือ การมุ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจโดยใช้การบริการ (Service) เหมือนกัน หากจะให้วิเคราะห์ความแตกต่าง น่าจะเป็นเรื่องกลุ่มลูกค้าที่เราต้องให้ความสนใจ ( Focus) มากกว่าค่ะ สำหรับแบบ in-house กลุ่มลูกค้าที่เราต้องดูแล คือ ลูกค้าขององค์กรเรา แต่ถ้าเป็นแบบ outsource ลูกค้าของเราจะมี 2 กลุ่ม คือ ผู้ว่าจ้าง เราถือเป็นลูกค้ากลุ่มแรก และลูกค้าของผู้ว่าจ้างถือเป็นกลุ่มที่ 2 ซึ่งเราต้องพยายามดูแลความต้องการของลูกค้ากลุ่มแรก หรือผู้ว่าจ้างโดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ โดยการดูแล เอาใจใส่ความต้องการของลูกค้ากลุ่มที่ 2 หรือลูกค้าของผู้ว่าจ้าง ให้ได้รับความพึงพอใจ เมื่อติดต่อเข้ามาใช้บริการของเราเสมอ
หากถามถึงความท้าทาย ต้องบอกว่าการดูแลลูกค้าในงาน Outsource นอกจากต้องใช้ความสามารถในการทำความเข้าใจกับลักษณะงานที่เปลี่ยนไปตามธุรกิจของผู้ว่าจ้างแล้ว เราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ ความยืดหยุ่น การวิเคราะห์ การตอบสนอง การนำเสนอบริการต่อผู้ว่าจ้างให้ผู้ว่าจ้างวางใจในบริการของเรา ว่าสามารถมีผลลัพธ์ตามที่กำหนด และผลลัพธ์นั้นสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ว่าจ้างได้จริง
Call Center Master: ตามที่เราทราบกันดีว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (AEC) ในปี 2558 คุณคิดว่าธุรกิจ Outsource Call Center จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างคะ
คุณสิชาภัทร: การที่ประเทศไทยจะเข้าสู่เปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (AEC) นี้ ตามทัศนะส่วนตัว ดิฉันมองว่า ธุรกิจ Outsource Call Center น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน แต่อาจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยลักษณะของสิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ประการแรก สำหรับผู้ให้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้บริการกับลูกค้าภายในประเทศเท่านั้น และให้บริการด้วยทักษะภาษาไทยเพียงอย่างเดียว อาจจะมีโอกาสพัฒนาธุรกิจของตนเองเพิ่มขึ้นเป็นภาษาอื่นๆ ซึ่งผู้ที่สามารถพัฒนาได้ก็จะสามารถสร้างโอกาส สร้างมูลค่าทางธุรกิจเพิ่มขึ้นได้ เพราะคนไทยมี Service mind เป็นจุดขาย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ไม่เฉพาะในอาเซี่ยน
ประการที่ 2 สำหรับคู่แข่งที่เจ้าของธุรกิจเป็นชาวต่างชาติ หากต้องการมาสร้างโอกาสทางธุรกิจ อาจจะเป็นกลุ่มที่มีเทคโนโลยี ด้าน Call Center เป็นจุดขาย นำมาขยายธุรกิจนอกเหนือจากทักษะภาษาอื่น และต้องการเพิ่มทักษะภาษาไทยด้วย ก็อาจจะมีการเข้ามาเจรจากับเจ้าของธุรกิจ Outsource ที่เป็นคนไทยโดยตกลงร่วมมือกัน หรือ เข้ามาเพื่อซื้อธุรกิจ Call Center จากเจ้าของคนไทยไปเลย ก็เป็นไปได้ ฉะนั้นการควบรวม หรือ การซื้อขาดโดยนำเทคโนโลยี Call Center ในระดับ advance มาใช้ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงลักษณะเช่นนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น การศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาด และพัฒนาธุรกิจของตนเองให้สอดคล้อง เพื่อรองรับความต้องการนั้นได้เร็วก็จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดี ให้กับธุรกิจ Outsource ได้อย่างแน่นอน
Call Center Master: คุณมีอะไรจะฝากถึงน้องๆ ที่ทำงานด้านการบริการลูกค้า หรือ Call Center บ้างคะ
คุณสิชาภัทร: คุณสมบัติสำคัญของผู้ให้บริการ คือ ต้องมีพื้นที่การฟัง สำหรับผู้ติดต่อมาใช้บริการเสมอ การฟังอย่างตั้งใจ นอกจากจะเป็นการให้เกียรติคู่สนทนาแล้ว ยังสามารถทำให้เราเข้าใจ และจับประเด็นความต้องการของคู่สนทนาได้เร็วขึ้นด้วย เมื่อเราเข้าใจประเด็นความต้องการ เราก็จะสามารถนำเสนอสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการได้เลยทันที เพียงง่ายๆ แค่นี้ น้องๆ ก็จะสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นนักบริการมืออาชีพได้อย่างง่ายดาย
พี่ขอฝากน้องๆ ที่ทำงาน Call Center ให้ลองนำไปฝึกทักษะด้านการฟังกันนะคะ แล้วน้องๆจะพบว่าการฟัง คือ ทักษะขั้นเทพที่จะนำพาน้องๆ ไปสู่ความสำเร็จได้แน่นอนค่ะ
Call Center Master: ขอขอบคุณคุณสิชาภัทรมากค่ะ ที่สละเวลามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และ แนะนำข้อมูลดีๆ ให้ทีมงาน และผู้อ่านของเราค่ะ
|